เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
สมมุติเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระราชา พระราชกุมาร และพระราชเทวี เหล่านี้เรียกว่า สมมุติเทพ
อุบัติเทพ เป็นอย่างไร
คือ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่
พรหม และเทวดาชั้นสูงกว่านั้น เหล่านี้เรียกว่า อุบัติเทพ
วิสุทธิเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ และพระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้า เหล่านี้เรียกว่า วิสุทธิเทพ
พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดเหล่าสมมุติเทพว่า เป็นอธิเทพ ทรงรู้จักเหล่าอุบัติเทพ
ว่าเป็นอธิเทพ ทรงรู้ชัด คือ ทรงทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งเหล่าวิสุทธิเทพว่า เป็นอธิเทพ รวมความว่า ทรงรู้ชัดอธิเทพ
คำว่า ทรงรู้ชัดธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ คือ ทรงทราบ ทรงถูกต้อง แทงตลอดธรรมที่ทำพระองค์
และชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ
ธรรมที่ทำพระองค์ให้เป็นอธิเทพ เป็นอย่างไร
คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การ
ปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้
บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
ความเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน 4 ฯลฯ
อริยมรรคมีองค์ 8 เหล่านี้ เรียกว่า ธรรมที่ทำพระองค์ให้เป็นอธิเทพ
ธรรมที่ทำชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ เป็นอย่างไร
คือ การปฏิบัติชอบ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ 8 เหล่านี้เรียกว่า ธรรมที่ทำชน
เหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ คือ ทรงทราบ ทรงถูกต้อง แทงตลอด
ธรรมที่ทำพระองค์และชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ทรงรู้ชัด
ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :388 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 7. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคทรงกระทำส่วนสุด คือ ทรงกระทำที่สุดรอบ ทรงกระทำที่กำหนด
ทรงกระทำความจบแห่งปัญหาของพราหมณ์ ผู้แสวงหาฝั่ง... ได้แก่ ทรงกระทำ
ส่วนสุด กระทำที่สุดรอบ กระทำที่กำหนด กระทำความจบแห่งปัญหาของสภิย-
พราหมณ์... แห่งปัญหาของพระปิงคิยเถระ... แห่งปัญหาของท้าวสักกะ... แห่งปัญหา
ของท้าวสุยาม... แห่งปัญหาของภิกษุ... แห่งปัญหาของภิกษุณี ... แห่งปัญหาของ
อุบาสก ... แห่งปัญหาของอุบาสิกา ... แห่งปัญหาของพระราชา ... แห่งปัญหา
ของกษัตริย์ ... แห่งปัญหาของพราหมณ์ ... แห่งปัญหาของแพศย์ ... แห่งปัญหา
ของศูทร ... แห่งปัญหาของเทวดา ... แห่งปัญหาของพระพรหม
คำว่า เป็นพระศาสดา อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่ ชื่อว่า
พระศาสดา เหมือนบุคคลผู้นำหมู่เกวียน ย่อมนำหมู่เกวียนข้ามที่กันดาร ข้าม คือ
ข้ามขึ้น ข้ามออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะโจร ที่กันดารเพราะสัตว์ร้าย ที่กันดาร
เพราะอดอยาก ที่กันดารเพราะขาดน้ำ ได้แก่ ให้ถึงถิ่นที่ปลอดภัย ฉันใด
พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่ ย่อมทรงนำหมู่ข้ามที่กันดาร ข้าม คือ ข้ามขึ้น
ข้ามออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย
ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ
ที่กันดารเพราะความกำหนัด ที่กันดารเพราะความขัดเคือง ความลุ่มหลง ความ
ถือตัว ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต คือ ความรกชัฏเพราะความกำหนัด ความรกชัฏเพราะ
ความขัดเคือง ความรกชัฏเพราะความลุ่มหลง ความรกชัฏเพราะทิฏฐิ ความรกชัฏ
เพราะกิเลส ความรกชัฏเพราะทุจริต ได้แก่ ให้ถึงอมตนิพพานอันเป็นแดนเกษม
ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตาม
แนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ให้เพ่งประโยชน์ ทรงทำให้
เลื่อมใสได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค พระศาสดาจึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรค
ที่ยังไม่เกิดให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้ง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :389 }